วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553


ประวัติเมืองแม่ฮ่องสอน ::
สันนิษฐานว่า เมืองแม่ฮ่องสอนเป็นเมืองที่มีคนอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ก่อนที่เจ้าแก้วเมืองมาจะเข้ามาตั้งบ้านเรือนขึ้นมาใหม่ แต่ไม่มีหลักฐานว่าเข้ามาอยู่เมื่อใดสมัยใด และอพยพไปอยู่ที่ไหน ผู้คนที่อยู่อาศัยก่อนนั้นมีหลักฐานและเชื่อกันว่าเป็นชนเผ่าลั๊วะ หรือละว้า หลักฐานที่ปรากฏอยู่คือหลุมฝังศพ ซากบ้านร้างซึ่งพบกันแถวบริเวณที่เป็นหอประชุมเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันคือตลาดโต้รุ่ง และที่โรงเรียนปริยัติธรรม ข้างวัดจองกลางและวัดจองคำ กลุ่มคนที่อยู่อาศัยก่อนนั้นน่าจะถูกไข้ป่าหรือเกิดการรบกัน มีการตายและพวกที่เหลืออพยพไปอยู่ที่ปลอดภัยกว่า
สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองแม่ฮ่องสอนเดิมเป็นชุมชนบ้านป่า ไม่มีผู้ใดปกครอง มีชาวไทยใหญ่บางส่วนจากชายแดนประเทศสหภาพพม่าที่อพยพเข้ามาทำมาหากิน ทำไร่ทำสวนเป็นบางฤดูกาล ความสำคัญสมัยนั้นเป็นเพียงทางผ่านของกองทัพพม่า ที่เดินทัพไปยังกรุงศรีอยุธยาหรือหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทย
ตำนานเมืองแม่ฮ่องสอนกล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2374 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทางแคว้นล้านนาไทย เมืองพิงค์นคร หรือเมืองเชียงใหม่ มีพระยาเชียงใหม่มหาวงศ์ ซึ่งต่อมาได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าเป็น พระเจ้ามโหตรประเทศราชาธิบดี ได้ทราบว่าทางตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งก็คือดินแดนที่เป็นหัวเมืองแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน มีภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ป่าทึบและเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะช้างป่าที่ชุกชุมมาก จึงมีบัญชาให้เจ้าแก้วเมืองมา ผู้เป็นญาติเป็นแม่กองนำไพร่พล นำช้างต่อหมอควาญ ออกไปสำรวจความเป็นไปของเหตุการณ์ชายแดนด้านตะวันตก พร้อมให้จับช้างป่านำมาฝึกสอนใช้งานต่อไป
เจ้าแก้วเมืองมา ก็ได้รวบรวมไพร่พลช้างต่อและหมอควาญช้างออกเดินทางจากเมืองเชียงใหม่ มุ่งสู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือลัดเลาะตามลำห้วย มุ่งสู่ภูเขาสูงสลับซับซ้อน ใช้เวลาเดินทางไม่นานนักก็เข้าสู่หมู่บ้านเวียงปายหรืออำเภอปายในปัจจุบัน ที่นี่เจ้าแก้วเมืองมาและคณะพักอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ก็เดินทางต่อ คราวนี้มุ่งสู่ทิศใต้ลัดเลาะตามลำน้ำปายขึ้นสู่ภูเขาสูงอีกครั้งหนึ่ง
การเดินทางช่วงนี้ใช้เวลามากกว่าเดิมก็ลงสู่แม่น้ำปายอีกครั้ง เมื่อถึงแม่น้ำปายก็พบมีชุมชนเล็ก ๆ มีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มากนัก เป็นคนไตหรือไทยใหญ่ บริเวณหมู่บ้านติดแม่น้ำปาย มีป่าที่ราบว่างเปล่ามากมาย เห็นว่าทำเลที่ตั้งของหมู่บ้านนี้ดีมาก สามารถขยายให้เป็นหมู่บ้านที่ใหญ่โตได้ในภายหน้าและที่อยู่ใกล้บ้านยังมีดินโป่งเป็นแห่ง ๆ มีหมูป่าลงมากินดินโป่งชุกชุมมาก เหมาะสำหรับตั้งเป็นหมู่บ้านเป็นอย่างดี
เจ้าแก้วเมืองมาจึงได้รวบรวมผู้คนที่อยู่กระจัดกระจายให้มาอยู่รวมกัน ให้มีการคัดเลือกนายบ้านเรียกว่า "เหง" ก็ได้ "นายพะก่าหม่อง" คนไทยใหญ่เป็นเหง (กำนันปกครองหมู่บ้านและให้ชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านโป่งหมู" ) ต่อมากลายเป็นบ้านปางหมู ตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เจ้าแก้วเมืองมาพร้อมกับพะก่าหม่องได้เดินทางต่อขึ้นไปทางทิศใต้ นำช้างที่คล้องไปจำนวนหนึ่ง เดินทางมาถึงตัวเมืองแม่ฮ่องสอนปัจจุบัน เป็นที่เหมาะสมดี ลำน้ำไหลผ่านจากทิศตะวันออกไปสู่ทิศตะวันตกลงสู่แม่น้ำปาย และยังมีลำธารไหลขนานทางทิศเหนืออีก เห็นว่าเป็นทำเลดีเหมาะที่จะตั้งเป็นที่ฝึกสอนช้างและตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน จึงได้ตั้งคอกฝึกสอนช้างริมลำน้ำนั้น และกลายเป็นหมู่บ้านไทยใหญ่อีกแห่งหนึ่ง แต่มีผู้คนอาศัยอยู่น้อยกว่าบ้านโป่งหมู หลังจากที่เจ้าแก้วเมืองมาคล้องช้างได้มากพอควร ฝึกสอนอยู่จนเห็นว่าควรเดินทางกลับได้ จึงได้ตั้งให้ "แสนโกม" บุตรเขยของพะก่าหม่อง เป็น "ก้าง" (ผู้ใหญ่บ้าน) ปกครองดูแลและตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านแม่ร่องสอน" ต่อมาคำว่า "แม่ร่องสอน" ได้เพี้ยนมาเป็น "แม่ฮ่องสอน" ส่วนลำธารอีกแห่งหนึ่งทางทิศเหนือเรียกว่า "ลำน้ำปุ๊" เนื่องจากพบว่ามีน้ำผุดขึ้นมาจากดิน
บ้านแม่ร่องสอนเจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับมา มีชนชาวไทยใหญ่อพยพเข้ามาอยู่มากขึ้น เนื่องจากระยะนั้นประมาณปี พ.ศ. 2399 ได้เกิดจลาจลทางหัวเมืองไตฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน ทำให้ชาวไทยใหญ่ที่รักสงบอพยพมากขึ้น ถึงปี พ.ศ. 2409 เกิดการรบกันในหัวเมืองไทยใหญ่ ระหว่าง เจ้าฟ้าเมืองนาย กับเจ้าฟ้าโกหล่านแห่งเมืองหมอกใหม่ เจ้าฟ้าโกหล่านสู้ไม่ได้ จึงได้อพยพครอบครัวมาอยู่กับแสนโกมที่บ้านแม่ร่องสอน พร้อมกับภรรยาชื่อ "นางเขียว" บุตรชื่อ "ขุนโหลง" หลานชื่อ "ขุนแอ" และหลานสาว "เจ้านางนุ" และเจ้านางเมี๊ยะ" มาอยู่ด้วย
ถึงปี พ.ศ. 2417 บ้านแม่ร่องสอนกลายเป็นชุมชนใหญ่ มีผู้คนเข้ามาอาศัยจนเห็นว่าจะจัดตั้งเป็นเมืองขึ้นได้แล้ว "เจ้าอินทวิชายานนท์" เจ้าเมืองเชียงใหม่จึงได้ตั้งให้ "ชานกะเล" ชาวไทยใหญ่เป็นเจ้าเมืองคนแรกมีบรรดาศักดิ์เป็น "พญาสิงหนาทราชา" ครองเมืองแม่ฮ่องสอนใน พ.ศ. 2417 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5
ต่อมาปี พ.ศ. 2427 หลังจากทำนุบำรุงบ้านเมืองมาได้ 10 ปี พญาสิงหนาทก็ถึงแก่กรรม ผู้ที่ครองเมืองแม่ฮ่องสอนต่อมาคือ "เจ้านางเมี๊ยะ" ครองเมืองแม่ฮ่องสอนอยู่ 7 ปี ได้นำความเจริญมาสู่เมืองแม่ฮ่องสอนเป็นอันมาก และถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2434
เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนต่อมาคือ "ปู่ขุนโท้ะ" ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "พญาพิทักษ์สยามเขต" ครองเมืองแม่ฮ่องสอนระหว่างปี พ.ศ. 2434-2448 ก็ถึงแก่กรรม
เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนต่อมาคือ "ขุนหลู่" บุตรของปู่ขุนโท้ะ ได้ปกครองแทนและได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "พญาพิศาลฮ่องสอนบุรี" ครองเมืองแม่ฮ่องสอนระหว่างปี พ.ศ. 2448-2484 ต่อมาเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว จึงไม่ได้มีการแต่งตั้งอีก
ใน พ.ศ. 2433 สมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาศรีสหเทพปลัดทูลฉลอง กระทรวงมหาดไทยขึ้นมาตรวจราชการ ในหัวเมืองมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ได้ปรึกษากับพระยาริศราชกิจ ข้าหลวงใหญ่เจ้าผู้ครองนครเมืองในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ จัดระเบียบการปกครองใหม่ คือรวมเมืองแม่ฮ่องสอน เมืองขุนยวม เมืองยวม (แม่สะเรียง) และเมืองปาย เข้าเป็นหน่วยปกครองเดียวกันเรียกว่า "บริเวณเชียงใหม่ตะวันตก" ตั้งที่ว่าการแขวง (เทียบเท่าเมือง) ที่เมืองขุนยวม โดยตั้งให้นายโหมดเป็นนายแขวง (แจ้งความเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 11 กรกฎาคม ร.ศ. 119)
ใน พ.ศ. 2446 ย้ายที่ว่าการจากเมืองขุนยวมไปตั้งที่เมืองยวม (แม่สะเรียง) และเปลี่ยนชื่อจากบริเวณเชียงใหม่ตะวันตกเป็นบริเวณพายัพเหนือ ในปี พ.ศ. 2453 โปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองแม่ฮ่องสอน เมืองยวม และเมืองปาย ตั้งเป็นเมืองจัตวาขึ้นกับมณฑลพายัพ และย้ายที่ว่าการเมืองมาตั้งที่เมืองแม่ฮ่องสอนพร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรสุรราช (เปลื้อง) เป็นเจ้าเมือง (ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน) เป็นคนแรก พ.ศ. 2476 เลิกการปกครองที่เป็นมณฑลและตั้งเป็น "จังหวัดแม่ฮ่องสอน" บริหารราชการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาจนกระทั่งทุกวันนี้

แหล่งที่มาจาก www.gogole.com/th

3 ความคิดเห็น: